วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเล่นและการแข่งขันว่าวไทย

   

 การเล่นและการแข่งขันว่าวไทย





       การเล่นว่าวจริงๆจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เริ่มการเล่นโดยการเอาเชือกว่าวผูกกับคอซุง แล้วทดสอบดูการผูกก่อนว่าได้ศูนย์ดีหรือไม่ แล้วให้คนส่งว่าวไปยืนโต้ลม ห่างจากผู้เล่นว่าว ประมาณ 4 -5 เมตร ตั้งหัวว่าวขึ้นรอ พอลมมาก็ส่งว่าวขึ้นไป คนชักว่าวจะกระตุกและผ่อนสายว่าวจนว่าวสูงขึ้นติดลมบน จึงถือไว้นิ่งๆ หรือบังคับให้ว่าวส่ายไปมา

       การ เล่นว่าวมักจะยากในช่วงนำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า พอว่าวติดลมบนแล้วก็จะสบายมาก ไม่ค่อยมีปัญหาในการเล่น ไม่ค่อยร่วงหล่นง่ายๆ ทำให้มีสำนวนไทยว่า "ติดลมบน" เกิดขึ้น ซึ่งมาจากการเล่นว่าวนั่นเอง
 ความสนุกในการเล่นว่าวจะสนุกมากเวลาพยายามเอาว่าวขึ้น บางช่วงถ้าลมไม่ดี ต้องส่งว่าวกันอยู่หลายรอบ หรือบางทีต้องใช้วิธีวิ่งแล้วค่อยๆผ่อนเชือกให้ใช้แรงลมนจากการวิ่งส่งว่าว ขึ้น นอกจากนี้การได้บังคับว่าวให้เลี้ยวซ้ายขวา และการตีว่าวให้แบลงมายังเป็นเรื่องน่าสนุกมาก ทักษะในการบังคับว่าวต้องค่อยๆเรียนรู้ แต่ไม่ยากและสนุกมากครับ
การเล่นว่าวยังต้องระวังเรื่องการพันกับว่าวตัวอื่นอีก ต้องพยายามหลีกกัน และต้องระวังว่าวที่ใช้ป่านคมด้วย เพราะถ้าโดนป่านคมแล้ว ว่าวที่เราเล่นอยู่จะขาดลอยไปได้ ซึ่งจริงๆแล้วตอนนั้นก็เป็นเรื่องน่าสนุกและน่าตื่นเต้นมาก เนื่องจากเราต้องวิ่งตามว่าวของเราไม่รู้จะไปตกที่ไหน แต่ส่วนใหญ่มักจะหนีไม่พ้นที่ต้นมะขามที่อยู่รายรอบสนามหลวง ในหน้าว่าวเราจะเห็นว่าวไปติดที่ต้นมะขามเต็มไปหมด
อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเด็กๆไม่อยากเจอเวลาเล่นว่าวคือการที่ว่าวพันกัน ทำให้ด้ายของคนอื่นมาพันกัน บางครั้งพันกันหลายๆคน ทำให้การแก้ปมต่างๆยากยิ่งขึ้น แต่นั่นก็ทำให้เกิดความพยายาม ความตั้งใจ และเกิดมิตรภาพขึ้นได้ในระหว่างผู้เล่นว่าว ต้องมีการหมุนเชือก อ้อมเชือก อ้อมกระป๋องนมกันหลายรอบกว่าจะหลุด หรือบางครั้งไม่หลุด ก็ต้องมีการทำให้เชือกขาด และต่อใหม่
นอกจากนี้ความสนุกอีกอย่างที่มักเกิดขึ้นเวลาเราเผลอคือ เชือกว่าวหลุดออกจากมือ หรือบางทีปล่อยเชือกจนหมดแล้ว กระป๋องหรือขวดที่พันเชือกหลุดออกจากมือ ทำให้ว่าวและขวดลอยออกไป ต้องวิ่งตามเป็นที่น่าสนุกสนาน
คนที่เคยเล่นว่าวแล้วคงเข้าใจความสนุกสนานและเหตุการณ์ต่างๆข้างต้นได้ดี ใครยังไม่เคยเล่น ลองดูนะครับจะได้รู้ว่าสนุกแค่ไหน :-)

 การแข่งว่าวระหว่างจุฬาและปักเป้าเป็นกีฬาพื้นเมืองของไทยที่หาชมได้ยากมาก จะมีการเล่นที่ท้องสนามหลวงในช่วงหน้าร้อนหรือช่วงที่มีลมว่าวเท่านั้น เด็กๆสมัยนี้หาดูได้ยามเต็มที จริงๆแล้วประวัติการแข่งว่าวมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยอดีต พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ของเราทรงโปรดการเล่นว่าวมาก และมีการชิงถ้วยพระราชทานกันด้วย
ประเทศไทยเรียกได้ว่าเป็นประเทศเดียวที่มีการแข่งขันว่าวกันกลางเวลา ประเทศอื่นๆมีการเล่นว่าวเหมือนกัน แต่โดยมากเป็นการเล่นเพื่อสนุกเท่านั้น ไม่ได้แข่งขันกัน แต่ของไทยเองมีการแข่งขันกันเป็นเรื่องเป็นราว มีกติกาที่แน่ชัด และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
การแข่งว่าวจะแบ่งเป็น 2 ทีม ระหว่างจุฬาและปักเป้า โดยแบ่งเขตแดนกัน ว่าวจุฬาจะมีขนาดใหญ่กว่าปักเป้ามาก และจะมีอาวุธที่สำคัญคือจำปา ซึ่งติดที่สายป่าน จำปาทำจากไม้ไผ่เหลาและนำมาประกอบกันหลายๆอัน ทำเป็นซี่ๆเพื่อให้เชือกของฝ่ายปักเป้าเข้ามาติด ทกให้ว่าวปักเป้าเสียหลักและเสียการทรงตัว เมื่อฝ่ายปักเป้าติดจำปาของฝ่ายจุฬา ทางทีมจุฬาก็จะมีการวิ่งเพื่อดึงฝ่ายปักเป้าให้เข้ามาในแดนของจุฬา ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะได้คะแนน
ส่วนทางฝ่ายปักเป้าเองก็มีอาวุธคือเหนียง ซึ่งเป็นบ่วงเชือกไว้คล้องส่วนหัวของจุฬา ถ้าคล้องได้ จุฬาก็จะเสียการทรงตัว และปักเป้าก็จะพยายามทำให้ว่าวจุฬาตกลงในแดนปักเป้า ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ชั้นเชิงในการบังคับว่าวกันน่าดู เวลามีปักเป้าติดจำปาของจุฬาหรือจุฬาติดเหนียงปักเป้า ก็จะมีการวิ่งว่าวของแต่ละทีม เพื่อทำให้ว่าวคู่ต่อสู้ตกในแดนของตัวเอง
การดูการแข่งว่าวสนุกมากครับ แต่ต้องคอยระวังดีๆ อย่าไปอยู่ใกล้ๆผู้เล่นเกินไป และอย่าไปขวางทางวิ่งว่าว และยังต้องคอยระวังว่าวที่กำลังจะตกไม่ให้มาถูกตัวด้วยครับ ใครยังไม่เคยดูการแข่งว่าว ไปดูได้ที่สนามหลวงในหน้าว่าวนะครับ หาดูได้ยากขึ้นทุกวันแล้วครับ

แผนผังแสดงดินแดนของ 2 ทีม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น